"เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ" หรือ "เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ" เป็นศาสตร์ที่มีลักษณะเป็น Area Study หรือ Field โดยจะศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างตัวแสดงในเวทีการระหว่างประเทศภายใต้มิติเศรษฐกิจ-การเมืองโลก ว่าใครได้หรือเสียอะไรไป หรือใครเป็นผู้มีอำนาจในการออกระเบียบเศรษฐกิจโลก เป็นต้น
ที่มาและความสำคัญ
ในทศวรรษ 1970 เกิดปัญหาวิกฤตน้ำมัน หรือที่เรียกว่า Oil Shock ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจระดับโลก ประกอบกับอิทธิพลของสงครามเย็นที่ทำให้รัฐต่างๆต้องสะสมกำลังอาวุธซึ่งช่วยซ้ำให้วิกฤตนี้เลวร้ายขึ้นไปอีกขั้น ด้วยเหตุนี้เองการศึกษาถึงอิทธิพลของเศรษฐกิจที่มีต่อระบบการเมืองโลกจึงได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจมีส่วนทำให้ความตึงเครียดของการเมืองโลกเพิ่มมากขึ้น
มากไปกว่านั้นในปัจจุบันโลกของเราอยู่ภายใต้กระแสของโลกาภิวัตน์ที่ทั้งแผ่ขยายและทำให้ความสัมพันธ์เข้มข้นขึ้นตั้งแต่ระดับปัจเจกจนถึงระดับรัฐ ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจ การค้า และการเงินของแต่ละรัฐเชื่อมโยงกันมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงอิทธิพลของบรรษัทข้ามชาติที่ท้าทายอำนาจและบทบาทของรัฐมากขึ้น คำอธิบายทางรัฐศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์เพียงอย่างเดี่ยวๆจึงไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจประกฏการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศจึงเป็นศาสตร์ที่จะเข้ามาช่วยอธิบายเหตุการณ์ต่างๆในสังคมการเมือง-เศรษฐกิจโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งศาสตร์ดังกล่าวมีลักษณะเบื้องต้นดังนี้
- เป็นสาขาวิชาที่มีลักษณะสหวิทยาการ ที่รวมทั้ง รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ
- สามารถอธิบายปรากฎการณ์หรือเหตุการณ์ที่มีความซับซ้อนได้ดีกว่าศาสตร์เดียว
- สภาพจริงนิยม รัฐนิยม หรือพาณิชย์นิยม (Realism, Statism, Merchantilism) เป็นแนวคิดที่มองว่ารัฐมุ่งแสวงหาอำนาจและความมั่งคั่ง เพื่อรักษาหรือให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติ ด้วยวิธีต่างๆไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงตลาดโดยรัฐ การปกป้องการค้าภายในประเทศ(การส่งเสริมการส่งออกและลดการนำเข้า) การให้ความช่วยเหลือธุรกิจภายในประเทศ เป็นต้น ซึ่งในทรรศนะของแนวคิดดังกล่าว รัฐ จะเป็นผู้แสดงบทบาทหลักทั้งในและนอกประเทศ และเน้นประเด็นด้านการเมืองนำเศรษฐกิจ มากไปกว่านั้นแนวคิดนี้ยังมองว่า ภายใต้กระแสของโลกาภิวัตน์ รัฐ ยังสามารถรักษาอำนาจและบทบาทของตนได้อยู่ โดยการผ่อนคลายกฎระเบียบบางประการให้มีความยืดหยุ่นขึ้น และสร้างกฎระเบียบใหม่ๆเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
- เสรีนิยม (Liberalism / Economic Liberalism) เป็นแนวคิดที่มีรากฐานมาจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์คลาสสิคเน้นระบบตลาดเสรี ซึ่งการแข่งขันอย่างอิสระที่จะนำมาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะตรงกันข้ามหากให้รัฐเข้ามามีส่วนในตลาดเพราะจะเกิดการผูกขาด ส่งผลให้คุณภาพของสินค้าลดลง และจะชลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ มากไปกว่านั้นแนวคิดดังกล่าวยังได้ให้ความสำคัญกับความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ที่ให้รัฐผลิตในสินค้าที่ตนเองมีความถนัดซึ่งจะทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ มากไปกว่านั้นในมุมมองของแนวคิดนี้ต่อสภาวะโลกาภิวัตน์ จะมองว่า บทบาทของรัฐถูกท้าทายมากยิ่งขึ้นจากการอุบัติขึ้นของตัวแสดงใหม่ๆทั้งในประเทศได้แก่ ภาคธุรกิจ ภาคสังคมหรือชุมชน และนอกประเทศได้แก่บรรษัทข้ามชาติ เป็นต้น
- มาร์กซิสม์ (Marxism) เป็นแนวคิดที่เน้นย้ำถึงความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม หรือการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมทั้งในและนอกประเทศ ประเทศมหาอำนาจกดขี่ประเทศกำลังพัฒนา นายทุนกดขี่แรงงาน เป็นต้น มากไปกว่านั้นยังมองว่าบรรษัทข้ามชาติเป็นผู้ฉวยโอกาสที่จะเข้ามาใช้ทรัพยากรต่างๆและแรงงานเพื่อแสวงหากำไรส่วนตนเพียงอย่างเดียว แนวคิดมาร์กซิสม์ สรุปว่าปัญหาทั้งหมด คือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกเท่านั้น กล่าวคือ จะต้องมี ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ (New International Economic Order : NIEO) ที่สามารถกระจายผลประโยชน์ได้แก่ทุกภาคส่วน
รูปภาพจาก http://www.georgistjournal.org/2013/03/11/a-dialogue-on-political-economy/
(บทความดังกล่าว สรุปมาจากการบรรยายวิชา ร.380 เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2556)