วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองโลก

บทความนี้จะขอกล่าวถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองโลก โดยแบ่งยุคสมัยออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่
  1. ยุคก่อนสมัยใหม่ และ สมัยใหม่ (premodern and modern international political economy)
  2. ยุคปลายศตวรรษที่ 19 ถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1
  3. ยุคสงครามโลกครั้งที่  1 -  วิกฤตเศรษฐกิจโลก - สงครามโลกครั้งที่ 2
1. ยุคก่อนสมัยใหม่ และสมัยใหม่ (premodern and modern international political economy)
กิจกรรมที่สำคัญที่ก่อให้เกิดลักษณะทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ก็คือ การค้าทางไกล โดยสินค้าที่ค้าขายกันในยุคนั้นมีมากมายหลายอย่าง อาทิ เครื่องเทศ ผ้าไหม เซรามิก ชา เงินและทอง เป็นต้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการค้าระหว่างกันมากยิ่งขึ้นเนื่องมาจากการค้นพบทวีปอเมริกาโดยโคลัมบัสเมื่อปี 1492 และ การแล่นเรือรอบโลกครั้งที่ 1 และ 2 ในปลายศตวรรษที่ 14 - 16 โดยโปรตุเกส จึงทำให้โปรตุเกสเป็นผู้บุกเบิกในการเดินเรือพร้อมกับการค้า

มากไปกว่านั้นเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 17 เนเธอร์แลนด์ และ อังกฤษก็ได้ถูกยกให้เป็นประเทศที่พัฒนาการค้าของตนขึ้นมาจนมีอำนาจนำทางเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาดังกล่าวเกิดมาจาก

  1. การก่อตัวของบริษัทเอกชน ที่ได้รับการสนับสนุนจากราชวงศ์ เช่น British East India หรือ Dutch East India 
  2. การมีกองเรือขนาดใหญ่ (large fleets)
  3. การมีระบบสินเชื่อ (credit system)
  4. ลัทธิจักรวรรดินิยมที่ทำให้เกิดการล่าอาณานิคม
  5. นโยบายพาณิชย์นิยม (mercantilism)
ในขณะที่สเปนและโปรตุเกสกลับมีบทบาทที่น้อยลงไปเนื่องจากข้อจำกัดทางศาสนาที่เคร่งครัด โดยกีดกันโอกาสในการทำการค้าของผู้ที่ไม่ได้เป็นศาสนิกชน จึงทำให้พ่อค้าจำนวนมากย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศอื่นๆ

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 18 อังกฤษได้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น โดยมีสาเหตุมาจาก
  1. การมีประสิทธิภาพที่มากขึ้นของภาคเกษตร (หรือเริ่มกลายเป็นเกษตรอุตสาหกรรม) ซึ่งทำให้ภาคส่วนต่างๆมีการเจริญเติบโตตามมา
  2. การปฏิวัติชนชั้นกลางในปี 1688 ที่ทำให้ปัจเจกบุคคลสามรถมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนเอง จึงทำให้เกิดการสะสมทุน 
  3. การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  4. การมีระบบการเงินที่มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพมากขึ้นจากการก่อตั้งธนาคารแห่งชาติ ในปี 1694
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆอีกมากมายที่ช่วยผลักดันให้อังกฤษเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะเป็นการมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากเช่นถ่านหิน, การมีกองกำลังที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะกองทัพเรือ, ความเป็นชาติที่ก่อตัวขึ้น(จากสนธิสัญญาสันติภาพที่เวสต์ฟาเลียปี 1648), ศาสนาที่เอื้อต่อการค้า(ไม่เคร่งครัดเท่ากับนิกายคาทอลิก)

จุดเปลี่ยนที่สำคัญของอำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ที่อังกฤษสามารถเอาชนะในสงครามนโปเลียนได้ในปี 1815 ประกอบกับการที่อังกฤษมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในระบบภายในประเทศ จึงทำให้อังกฤษเข้าสู่ยุค British Hagemony และเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกผ่านระบบมาตรฐานทองคำ

อย่างไรก็ตามในกลางทศวรรษ 1870 จนถึงปลายทศวรรษ 1890 ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกก็เริ่มเกิด วิกฤตขึ้นเนื่องจาก
  1. ราคาสินค้าตกต่ำลงเรื่อยๆจากการนำเข้าจากการที่มีอุปทานในตลาดเพิ่มมากขึ้น
  2. การพัฒนาเทคโนโลยีทำให้เกิดการใช้เครื่องจักรแทนคนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น
  3. จากสองข้อแรก ทำให้รัฐต่างๆใช้นโยบายที่ปกป้องเศรษฐกิจของตนเองโดยการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้า (ยกเว้นบริเทน และ กลุ่มประเทศ Benelux)
  4. หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจเริ่มก่อเค้าขึ้น ส่งผลให้บรรดารัฐต่างๆเริ่มไม่ไว้ใจมาตรฐานทองคำ และเริ่มยกเลิกการใช้มาตรฐานนี้ ทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเงินและการค้ามากขึ้นเรื่อยๆ
  5. หลังจากการใช้นโยบายปกป้องการค้าและเศรษฐกิจของประเทศตน ทำให้สินค้าที่ถูกผลิตมามากเกินไปทำให้ไม่สามารถขายได้ จึงต้องมีการล่าอาณานิคมครั้งใหม่ (new round colonialism)

รูปภาพจาก http://www.telegraph.co.uk/finance/personalfinance/pensions/9077788/Lord-Freud-British-pensions-no-longer-gold-standard.html




(บทความดังกล่าว สรุปมาจากการบรรยายวิชา ร.380 เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น