วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ ระบบ Bretton Woods System

ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ ระบบ Bretton Woods System
เมื่อสงครามโลกครั้งที 2 ใกล้สิ้นสุดลง ประเทศผู้ที่จะชนะสงครามโดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา และ สหราชอาณาจักร ได้ตระหนักถึงปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเนื่องจากภาวะสงครามที่ผลักดันให้ประเทศต่างๆ ใช้นโยบายปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ โดยการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าที่สูง ซึ่งจากปัญหานี้ทำให้เกิด การผลักดันให้มีการประชุมเพื่อจัดระเบียบทางเศรษฐกิจในมิติของการค้า และมิติการเงินขึ้นที่เมือง Bretton Woods

ในมิติด้านการค้า ที่ประชุมได้มีการวางกติกาการค้าระหว่างประเทศออกมาก็คือ GATT (General Agreement on Tariffs and Trade) หรือ ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรการค้า ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน รวมไปถึงการลดหรือกำจัดอุปสรรคทางการค้าให้ได้มากที่สุด และในปี 1990 ก็ได้มีการจัดตั้ง WTO (World Trade Organization) หรือองค์การการค้าโลกขึ้นเพื่อเป็นกลไกที่จะ สานต่อเป้าหมายของ GATT
            
ในมิติทางการเงิน ได้มีกติกาคือ (1) อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (fixed exchange rates) (2) กำหนดให้ เงินตราสกุลดอลลาร์สหรัฐซึ่งสนับสนุนโดยทองคำเป็นสิ่งซื้อขายแลกเปลี่ยนและเก็บรักษามูลค่ากลางของ โลก ดังนั้นธนบัตรอเมริกันจึงมีค่าเท่ากับทองคำที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ ทองคำ 1 ออนซ์ (3) จำกัดการ เคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามพรมแดน

มากไปกว่านั้นที่ประชุมยังได้สร้างสถาบันระหว่างประเทศเพื่อดูและและควบคุมระบบการเงิน ของโลก ได้แก่ IMF (International Monetary Fund) หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และ IBRD (International Bank for Reconstruction and Development) ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม ธนาคารโลก (World Bank)

ระเบียบเศรษฐกิจโลก Bretton Woods ที่ถูกสร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้มีบทบาทช่วย ส่งเสริมการพัฒนาและเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก สามารถระงับภาวะการเสียดุลการค้าเรื้อรังของประเทศ ต่างๆ ผ่านกลไกผลกระทบของการโอนย้ายทองคำและเงินดอลลาร์สหรัฐต่อระดับราคาในประเทศนั้นๆ ซึ่งท้ายที่สุดการค้าของประเทศที่เกี่ยวข้องก็กลับสู่สมดุล นอกจากนี้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระแส เงินทุนไหลเวียนระหว่างประเทศของภาคเอกชนก็เล็กกว่าภาครัฐมาก ตัวแปรเสริมหลักๆทางเศรษฐกิจอยู่ใน ระดับคงที่สม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยน ดัชนีตลาดหุ้น อัตราดอกเบี้ย ระดับราคา ส่งผลให้อัตรา การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกสูงและมั่นคง กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเติบโตค่อนข้างเร็ว

การเมืองกับระเบียบเศรษฐกิจโลก ระบบ Bretton Woods
การประชุมที่ Bretton Woods หากกล่าวถึงบริบทของการเมืองเชิงอำนาจ จะพบว่าในการประชุม มีกลุ่มประเทศที่มีอำนาจครอบงำทิศทางและผลลัพท์ของการประชุม โดยมีเป้าหมายในการขยายส่วนแบ่ง ทางตลาดโลก ซึ่งก็คือ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร
         
 สหรัฐอเมริกา ภายหลังจากที่ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็กลายเป็นรัฐที่มั่งคั่งที่สุดในโลก การผลิตของประเทศถีบตัวเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยกลายเป็นผู้ผลิต 45% ของผลผลิตทั่วโลก ขณะที่สหราชอาณาจักรแม้จะเป็นหนึ่งในประเทศที่ชนะสงครามแต่เนื่องจากผลของสงครามและการทะยานขึ้นของสหรัฐฯจึงทำให้บทบาทของสหราชอาณาจักรเริ่มลดลง
           
หากมองในด้านภูมิรัฐศาสตร์ ก็จะทำให้พบว่าการบริหารองค์การระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น IMF หรือ IBRD จะพบว่า สำนักงานใหญ่ของทั้งสององค์การฯตั้งอยู่ภายในสหรัฐฯ IMF หากจะปล่อยกู้ก็ต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการคลังของสหรัญ และ IBRD หรือ World Bank ประธานขององค์การฯจะต้องเป็นคนอเมริกันเท่านั้น มากไปกว่านั้นสหรัฐฯยังเป็นประเทศที่ให้ การสนับสนุนทางการเงินแก่องค์การระหว่างประเทศเหล่านี้มากที่สุดจึงทำให้มีสิทธิในการแสดงความเห็นมากที่สุด

จะเห็นได้ว่าระเบียบการเงินโลกใหม่ภายใต้ระบบ Bretton Woods เป็นองค์ประกอบหนึ่งของ ระเบียบโลกของอเมริกา (Pax Americana) ซึ่งมียุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ (1) ปิดล้อมการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์จากสหภาพโซเวียต (2) ประกันอำนาจของสหรัฐฯให้เป็นมหาอำนาจของโลก


ความเสื่อมถอยของระบบ Bretton Woods
สมัยประธานาธิบดี จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson 1963 - 1969) สหรัฐมีการพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้ทำสงครามในอินโดจีนและสร้างสวัสดิการแก่ประชาชนในประเทศ โดยไม่ได้ตระหนักถึงปริมาณทองคำสำรองที่ไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้เงินเฟ้อสูงและขาดดุลงบประมาณอย่างมหาศาล มาตรฐานอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ต่อทองคำเริ่มขาดความเชื่อมั่นจากบรรดาประเทศต่างๆ

เมื่อภาวะเงินเฟ้อเข้าขั้นรุนแรง ประธานาธิบดี นิกสัน (Richard Nixon 1969 -  1974) ก็ได้ประกาศระงับการรับแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์เป็นทองคำในเดือนสิงหาคม 1971 และขึ้นภาษีนำเข้าพิเศษ ต่อมาในเดือนมีนาคม 1973 รัฐบาลสหรัฐฯก็ลดค่าเงินดอลลาร์ติดต่อกัน 3 ครั้ง และหันไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว

หลังจากการที่เกิดวิกฤตพลังงาน (oil shock) ที่ทำให้โอเปกขึ้นราคาน้ำมัน 4 เท่าในปลายปี 1973 รัฐบาลสหรัฐฯก็ตัดสินใจยกเลิกระบบ Bretton Woods ในที่สุด


http://media.ft.com/cms/5d447202-af5b-11dd-a4bf-000077b07658.jpg


เอกสารอ้างอิง
  1. เกษียร เตชะพีระ , "เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่" , openbooks, 2556
  2. Manfred Steiger, "Globalization : Avery short introduction", Oxford U. Press, 2009

 บทความดังกล่าว สรุปมาจากบรรยายวิชา ร.380 เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ วันที่ 12 กรกฎาคม 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น