วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองโลก (ต่อ)

2. ยุคปลายศตวรรษที่ 19 ถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1
ก่อนหน้านั้นผมขอย้อนหลังกลับไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็น "ยุคตื่นทอง" ของอเมริกา กล่าวคือมีการค้นพบทองคำเป็นจำนวนมาก ทำให้มาตรฐานทองคำที่เคยถูกยกเลิกไปกลับมามีความน่าเชื่อถือและนำมาใช้อีกครั้ง โดยมีประเทศอุตสาหกรรมใหม่ต่างๆให้ความร่วมมือ เช่น ญี่ปุ่น และรัสเซียในปี 1897 และ ไทยในปี 1908

มากไปกว่านั้นในทศวรรษ 1870 ก็ได้มีการสร้างทางรถไฟมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การคมนาคมขนส่งใช้ระยะเวลาที่สั้นขึ้นประกอบการอพยพย้ายถิ่นฐานที่มากขึ้น (เช่นชาวญี่ปุ่น และ จีนเข้าสู่อเมริกา) ทำให้มีจำนวนแรงงานที่มากยิ่งขึ้นในแต่ละประเทศโดยเฉพาะอเมริกา และประเทศมหาอำนาจต่างๆ

นอกจากนั้นยังมีการแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศ (Intermational division of labor) ซึ่งเป็นการที่ประเทศต่างๆจะผลิตสินค้าที่ตนเองมีความถนัด แล้วนำมาแลกเปลี่ยนค้าขายซึ่งกันและกันสอดคล้องกับหลักการ Comparativ advantage ของ David Ricaedo และก็ยังมีอีกหลักการหนึ่งที่ช่วยอธิบายถึงการแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศ ซึ่งก็คือหลักการ  Factor endownment ของ Hechscher-Olin ที่อธิบายว่าประเทศที่มีความเข้มข้นของปัจจัยต่างกัน ก็จะผลิตสินค้าตามปัจจัยนั้น เช่น ประเทศที่มีปัจจัยทุนมาก ก็จะเน้นการลงทุน การเงิน ประเทศที่มีปัจจัยแรงงานมากก็จะผลิตสินค้าที่เป็นอุตสหากรรมมาก และประเทศใดที่มีปัจจัยที่ดินมาก ประเทศนั้นก็จะผลิตสินค้าเกษตรเป็นหลัก

จากปัจจัยต่างๆที่ได้แก่ (1)ยุคตื่นทองของอเมริกา (2)การเพิ่มจำนวนขึ้นของทางรถไฟ (3)การอพยพย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ และ (4)การแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศ ทำให้เกิดเสถียรภาพในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ, เสถียรภาพในราคาและค่าจ้าง(การจ้างงาน) และเสถียรภาพในการจัดการเศรษฐกิจมหภาค

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 1910 แม้ว่าจะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นเป็นจำนวนมากในยุโรปและหลายพื้นที่ของโลกซึ่งทำมีความทันสมัยมากขึ้น ผ่านการดำเนินนโยบายที่ปกป้องการค้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมทารก (Infant industies) (เยอรมัน และอเมริกาสามารถแซงอังกฤษ  และการเข้าสู่รัฐอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นและรัสเซีย) แต่แล้วผลกระทบเชิงลบของการพัฒนาก็เกิดขึ้น โดยมีผลดังนี้

  1. สินค้าที่ผลิตมากเกินไปจะถูกระบายไปยังประเทศที่เปิดเสรีทางการค้า(อย่างเช่นอเมริกา)ทำให้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศที่มีราคาแพงกว่าไม่สามารถขายได้ ทำให้ภาคการผลิตบางส่วนต้องปิดตัวลงและออกจากตลาด เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม
  2. เกิดการล่าอาณานิคมขึ้นโดยใช้เป็นแหล่งระบายสินค้า ค้นหาแรงงาน และขูดรีดทรัพยากร
  3. เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม
ท้ายที่สุดแล้วปัญหาดังกล่าวจะเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นประกอบกับสถานการณ์การเมืองที่ค่อนข้างจึงเครียดในช่วงนั้นจึงทำให้สงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้นในที่สุด

3. ยุคสงครามโลกครั้งที่  1 -  วิกฤตเศรษฐกิจโลก - สงครามโลกครั้งที่ 2
สงครามโลกครั้งที่ 1 มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมือง-ความมั่นคงของสองค่าย คือ ค่ายสัมพันธมิตร(Allied Power) ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย อิตาลี และสหรัฐฯ และค่ายมหาอำนาจกลาง(Central Powers) ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรียฮังการี จักรวรรดิออตโตมาน และบัลกาเรีย โดยระบบดุลแห่งอำนาจ(Balance of power)ที่ใช้ในยุโรปนั้นเริ่มมีความปั่นป่วน เกิดการแข่งขันกันสะสมอาวุธ และการดำเนินนโยบายแบบชาตินิยมของประเทศต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในยุโรป และนำไปสู่เหตุการณ์ที่เป็นชนวนของสงครามก็คือ การลอบปลงพระชนม์อารค์ดยุค ฟรานซ์ เฟอร์ดินาน แห่งออสเตรีย (Archduke Franz Ferdinan of Austira)

อีกหนึ่งสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็คือความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ ภายใต้การดำเนินนโยบายที่ปกป้องการค้า (Trade protectionism) ที่ทำให้สินค้าส่งออกของประเทศต่างๆไม่สามารถขายได้ ประกอบกับการนำงบประมาณต่างๆมาใช้ในการสร้างและสะสมอาวุธเกิดการสะสมการขาดทุนและความตึงเครียดระหว่างประเทศมากขึ้น

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้สิ้นสุดลงประตูมหาอำนาจบานใหม่ก็เริ่มเปิดออก โดยประเทศที่เปิดประตูนั้นได้แก่สหรัฐฯ ซึ่งเริ่มมีบทบาทเป็นมหาอำนาจของโลกภายหลังจากการเข้าร่วมสงครามเมื่อปี 1917 และมีส่วนสนับสนุนอาวุธและเสบียงแก่ประเทศกลุ่มสัมพันธมิตร ซึ่งเมื่อสงครามจบลงประเทศต่างๆในยุโรปได้รับความเสียหายมาก ขาดเสถียรภาพทางการเมืองและความตกต่ำทางเศรษฐกิจทำให้ต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากสหรัฐฯในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นทุนโดยการให้เงินกู้ ตลาด หรือเทคโนโลยี

ขณะเดียวกันผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 นอกจากจะทำให้ฝ่ายที่พ่ายแพ้ต้องหมดอำนาจลงไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว ฝ่ายมหาอำนาจที่ชนะสงครามเช่นอังกฤษก็กำลังเดินถอยหลังออกจากความเป็นมหาอำนาจขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากความเสียหายจากสงคราม การขาดดุลการค้าอย่างรุนแรง และยังมีหนี้ที่ต้องใช้คืนจากสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามความเสียหายทางเศรษฐกิจที่รุนแรงอันเนื่องมาจากสงครามไม่ว่าจะเป็นหนี้จำนวนมากในแต่ละประเทศและค่าชดเชยสงคราม ได้ก่อให้เกิดภาระอันหนักหน่วงแก่ประเทศต่างๆเป็นจำนวนมากจนในที่สุดระบบเศรษฐกิจของโลกก็พังทลายลงในที่สุด ตลาดหุ้นเกิดความผันผวน เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลก (The great depression)

มีคำอธิบายทางทฤษฎีต่างๆต่อภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจจำนวนมาก

  • แนวคิดของสำนักคลาสสิค(Classical economics) อธิบายว่าปัญหาของวิกฤตมาจากการจัดการปริมาณเงินในเศรษฐกิจมหภาคที่ไม่มีประสิทธิภาพ
  • สำนักมาร์กซิสม์ (Marxists) อธิบายว่าปัญหามาจากการสะสมทุนที่ไม่มีเสถียรภาพ ขาดความเท่าเทียม และเป็นการสะสมทุนที่มากเกินไป
  • สำนักเคนส์ (Keynesian) อธิบายว่าปัญหามาจากการลุงทุนที่มากเกินไป แต่ขาดการบริโภค(ไม่มีการใช้จ่าย)

ผลของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (The great depression) มีส่วนช่วยให้เกิดรัฐเผด็จการในที่ต่างๆอันเนื่องมาจากภาวะตกต่ำ ประชาชนต้องการที่พึ่ง ต้องการหนีจากปัญหาเลวร้ายนี้ มากไปกว่านั้นกลไกที่คอยดูแลการเมืองและความมั่นคงของโลกอย่าง องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) ก็ไม่สามารถดำเนินการรักษาความมั่นคงได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากไปกว่านั้นในด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลต่างๆก็เริ่มหันกลับมาดำเนินนโยบายปกป้องการค้าอีกครั้ง ซึ่งจากทั้งหมดนี้ก็นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในที่สุด





(บทความดังกล่่าว สรุปมาจากการบรรยายวิชา ร.380 เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น