วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

The East Asian Miracle : มหัศจรรย์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออก


ในขณะที่หลายพื้นที่ในโลกประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากจากผลกระทบการเมืองของสงครามเย็นและเศรษฐกิจผ่านระบบ Bretton Woods ที่กำลังเกิดวิกฤต มหาอำนาจต่างๆเกิดการขาดดุลทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากเนื่องจากมีการแข่งขันกันสะสมอาวุธ ในขณะที่ประเทศเล็กๆหลายประเทศอย่างกลุ่มประเทศละตินอเมริกาก็ถูกระบบ Bretton Woods คอยขัดขวางการเจริญเติบโตของตนเองด้วยการที่ทรัพยากรต่างๆของประเทศถูกดึงออกไปสู่ประเทศศูนย์กลางที่ตนเองพึ่งพิง

อย่างไรก็ตามผลกระทบของการเมืองและเศรษฐกิจ(สงครามเย็นและระบบ Bretton Woods)ที่กำลังตึงเครียด กลับดูเหมือนว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศหลายๆประเทศในทวีปเอเชีย

เกิดอะไรขึ้นที่เอเชีย ?
หลังจากทศวรรษที่ 1960 จนถึง ทศวรรษที่ 1990 ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศในทวีปเอเชียมีการเติบโตอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของญี่ปุ่นในทศวรรษ 1960, การเกิดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ NICs ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ในทศวรรษ 1970, การเกิด 4  เสือเศรษฐกิจ (The four tigers) ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ในทศวรรษ 1980 และการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนผ่านนโยบาย 4 ทันสมัยของเติ่้ง เสี่ยวผิงในทศวรรษที่1990

การเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องถึง 3 ทศวรรษของเอเชียได้รับความสนใจจากนักวิชาการฝั่งตะวันตกเป็นจำนวนมากทั้งนี้เนื่องจากไม่ตรงตามทฤษฎีเศรษฐกิจสำนักคลาสสิค (Classicla Economics)ที่อธิบายว่ารัฐไม่ควรมีบทบาทในตลาด และไม่ตรงตามทฤษฎีการพึ่งพิง (Dependency Theory) ที่อธิบายว่าประเทศที่พึ่งพิงแต่การส่งออก โดยเฉพาะสินค้าปฐมภูมิ ประกอบกับระบบเศรษฐกิจ-การเงินแบบ Bretton Woods จะทำให้บรรดารัฐเล็กๆหรือประเทศที่มีสถานะ"กำลังพัฒนา" ให้กลายเป็น "ด้อยพัฒนา" 

จุดร่วมที่สำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชีย คือการดำเนินยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า "Get the basic right but get the price wrong" 

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์ที่เน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศที่แข็งแรง ผ่านการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดี โดยพยายามให้เกิดเงินเฟ้อต่ำ และมีงบประมาณที่ขาดดุลน้อยที่สุด มากไปกว่านั้นยังมีการพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างทุนมนุษย์ (human capital) แก่ประชาชนในประเทศ การมีระบบราชการที่มีประสิทธิภาพและภาครัฐสามารถทำงานร่วมกับเอกชนได้

อีกส่วนของยุทธศาสตร์คือการบิดเบือนราคาสินค้า ผ่านการดำเนินนโยบายปกป้องการค้าและการอุดหนุนผู้บริโภคชาวต่างชาติที่ทำให้ซื้อสินค้าของประเทศตนในราคาที่ถูกลง ส่งผลให้ขายสินค้าได้มาก ทำให้มีการผลิตมากขึ้น และประชาชนภายในประเทศจะเป็นผู้ที่ต้องแบกรับการอุดหนุนนี้โดยการที่ราคาสินค้านำเข้านั้นมีราคาที่สูง หลังจากนั้นก็จะดำเนินนโยบายที่อุดหนุนภาคอุตสาหกรรมส่งออก โดยมีมาตรการจูงใจการส่งออก เช่น การหักค่าเสื่อมราคาเร็วขึ้นทำให้จ่ายภาษีน้อยลง การให้เงินอุดหนุนแก่ตัวอุตสาหกรรมโดยตรง หรือจะเป็นการจัดลำดับให้กู้อย่างเป็นระบบ และการลดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ

ความแตกต่างของเอเชียที่ทำให้เกิดการเติบโตในขณะที่ละตินอเมริกากลับด้อยพัฒนานั้น คือ 
  1. เศรษฐกิจของเอเชีย เอกชนมีการแข่งขันกันอย่างเสรี แต่ขณะที่ละตินอเมริกามีการหนุนนายทุนน้อยรายทำให้นายทุนมีอำนาจมาก และสามารถผูกขาดตลาด เกิดตลาดผูกขาด(​Monopoly market)หรือตลาดแข่งขันน้อยรายในบางประเทศ(Oligopoly market)
  2. ในเอเชียนั้นรัฐไม่ถูกครอบงำโดยเอกชน 
อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์มหัศจรรย์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกก็ได้มีนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเติบโตที่ไม่ได้มีความพิเศษอะไร ซ้ำยังไม่แน่นอนอีกด้วย โดย Paul Krugman ได้นำตีพิมพ์ The Myth of Asia's Miracle ลงในนิตยสาร Foreign Affairs (1994) อธิบายว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงแค่การเพิ่มขึ้นของปัจจัยการผลิต(จากการลงทุนและสะสม) แต่ในขณะที่ไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีส่งผลให้ไม่เกิดการผลิตที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง  กล่าวคือเป็นการเพิ่มขึ้นเฉพาะการลงทุนและประชากร ไม่ใช่การเติบโตของนวัตกรรมและการผลิตที่มีประสิทธิภาพ

ดูเหมือนว่าข้อวิพากษ์วิจารณ์ของ Krugman จะศักดิ์สิทธิ์เพราะในท้ายที่สุดประเทศในเอเชียก็ตกเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจการเงินครั้งใหญ่ (Asian financial crisis) ในปี 1997


http://www.grips.ac.jp/teacher/oono/hp/image_f2/lec11_1cc.gif


บทความดังกล่าว สรุปมาจากการบรรยายวิชา ร.380 เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ วันที่  26 กรกฎาคม 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น