วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2557

บันทึกของชายคนหนึ่งในวันที่ฟ้าแจ่มใสในเดือนกันยายน (เรื่องสั้น)

เช้าเดือนกันยายน ค.ศ. 2014 อากาศแจ่มใส...

เวลา 7 - 8 โมงเช้าบนรถทิวป์ (tube) นับว่าเป็นเวลาที่น่าอึดอัดที่สุดของใครหลายๆคนในกรุงลอนดอน ศูนย์กลางของเศรษฐกิจของอังกฤษ(และของโลกด้วยหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ) แน่นอนว่าผมก็เป็นหนึ่งในคนพวกนั้น  ผมต้องอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ทุกๆวัน วันละ ครึ่งชั่วโมงอย่างต่ำเพื่อไป-กลับ จากที่ทำงาน

ความคิดที่อยู่ในหัวขณะยืนอยู่บนรถไฟนั้นแทบไม่มี สารภาพตรงๆผมแทบไม่คิดอะไรเลยนอกจากเหม่อลอยไปยังนอกหน้าต่างที่ไร้ซึ่งวิวใดๆนอกจากสีดำของอุโมงค์

ผมมักจะเปิดเพลงฟังเบาๆไปด้วย อย่างน้อยก็รู้สึกว่าเวลามันหดสั้นลงมาบ้างเมื่อฟังเพลง แถมยังช่วยป้องกันสิ่งรบกวนอันไม่พึงประสงค์จากโลกภายนอกได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเสียงคนคุยกัน เสียงเด็กร้องไห้ เสียงเพลงที่ทะลุออกมาจากหูฟังของหลายๆคน และเสียงคนกำลังไอหรือจาม (น่าเสียดายที่การฟังเพลงของผมไม่สามารถบังคับมือพวกเขาให้ปิดปากตัวเองได้)

ทุกๆขาไปของผม ผมมักจะขึ้นโบกี้สุดท้ายของรถไฟเสมอ สาเหตุหลักคือมันใกล้กับบันไดที่เดินลงมา ส่วนสาเหตุหลักยิ่งกว่าคือ คนน้อยกว่าโบกี้กลางๆ และโชคดีของผมที่สถานีที่ผมขึ้นอยู่เกือบต้นสายของลอนดอนโซนแรก จึงไม่ต้องอารมณ์หงุดหงิดเมื่อเห็นคนเยอะแต่เช้า (จริงๆมันก็ไม่ได้น้อยขนาดนั้นหรอกนะครับ แค่เปรียบเทียบกับย่านใจกลางเมือง)

ที่เล่ามาทั้งหมดนั้น หาใช่การเกริ่นนำไม่ จริงๆพวกคุณจะคิดว่าเป็นก็ได้นะ ผมอาจคิดเองคนเดียวว่ามันไม่ใช่เฉยๆ เพราะเรื่องของเรื่องก็คือรถไฟฟ้าเป็นเพียงแค่ ฉาก ของเรื่องเท่านั้น

เช้าเมื่อวานผมตื่นนอนสามรอบ สองรอบแรกด้วยเสียงนาฬิกาปลุก ส่วนรอบสุดท้ายตื่นขึ้นมาเองซึ่งเป็นตัวอย่างที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งสำหรับชีวิตคนที่ต้องทำงานตรงเวลา(แต่เลิกงานไม่ตรงเวลา..แย่ซะจริง)ผมตื่นจริงๆคือตอน 7 โมง 24 นาที เดินงัวเงียไปดื่มน้ำแร่หนึ่งขวด เปิดม่านหน้าต่างและมองวิวจากห้องของตัวเองยามเช้า พอตาเริ่มเปิดก็เดินไปแปรงฟัน ล้างหน้า อาบน้ำ แต่งตัวเสร็จก็หยิบแซนด์วิชที่ซื้อมาในตู้เย็นใส่กระเป๋า แล้วออกไปที่สถานทีทิวป์

ทุกๆเช้าผมจะสังเกตการมาของรถไฟฟ้าบนหน้าต่างติดลิฟท์ของหอพัก โชคดีจริงๆที่หอพักของผมอยู่ใกล้พอที่จะสังเกตเห็นแถมเส้นทางเดินรถแถวนั้นไม่มีผืนดินมาบดบังจึงทำให้สังเกตและประเมินได้ หากรถไฟกำลังอยู่ในระยะทางที่เหมาะสมและผมประเมินดูแล้วว่าน่าจะลงลิฟท์และวิ่งขึ้นไปทัน ผมก็จะไม่รอช้าเลย จะลงมือทำตามความคิดนั้นในหัวทันที ซึ่งมันก็สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง...และปัจจัยสำคัญที่ไม่สำเร็จก็คือ เงินในบัตรหรือรอบของบัตรรถฟ้านั้นหมด ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเบื่อที่สุดสำหรับผมในช่วงเช้าเลยหากได้เจอเช่นนั้น เพราะต้องเดินกลับมาต่อแถวเติมเงินซึ่งท้ายที่สุดผมก็ต้องเสียรถฟ้าไป1 หรืออาจจะ 2 ขบวนที่เคลื่อนผ่านไป

โชคดีที่วันนี้ผมไม่มีปัญหา เงินยังเหลืออยู่ และขึ้นรถไฟทันตามแผน  ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี และผมก็หวังว่าจะไม่มีปัญหาอะไรเช่นรถไฟฟ้าเสียเกิดขึ้นอีก เมื่อรถไฟฟ้าแล่นมาถึงสถานีโกลสเตอร์ โรด (Gloucester Road) ผมรู้สึกว่าเหมือนตัวเองเข้ามาอยู่อีกโลกหนึ่ง เพราะผู้คนที่รอขึ้นมีมากซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับสถานีก่อนหน้าทั้งหมด และผู้คนที่รอเหล่านั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เมื่อรถไฟฟ้ามาจะขึ้นหมด พวกเขาพยายามดันตัวเข้าไปในรถ ทุกคนต่างเร่งรีบกันทั้งนั้น ซึ่งในเวลานี้เองที่รถไฟอยู่ในสภาพที่เรียกว่าปลากระป๋อง

เลวร้ายกว่านั้นก่อนจะถึงสถานีกรีนปาร์ก (Green Park) รถไฟฟ้าดันหยุดอยู่ระหว่างทางเสมอเนื่องจากจัดการจราจรหรืออะไรสักอย่าง ผมฟังไม่ค่อยถนัดนักเพราะเสียบหูฟังแล้วเปิดเพลงกลบอยู่ 

ที่ทำงานของผมอยู่สถานทีวอเตอร์ลู (Waterloo) ซึ่งต้องเปลี่ยนเป็นสายสีเทาจากสถานีกรีนปาร์ก ผมเปลี่ยนสายแล้วยืนบนรถไฟฟ้าเพื่อไปยังที่ทำงาน (รถไฟฟ้าที่นี่โชคดีที่ไม่มีกฎลวงตาที่ว่าผู้ชายห้ามนั่งอยู่เสมอ เหมือนอย่างประเทศอื่นๆ..ช่างยอดเยี่ยมอะไรเช่นนี้) และเมื่อมาถึงสถานีวอเตอร์ลู ผมรีบก้าวออกจากรถด้วยความรวดเร็วเพราะเสียเวลาทำงานมาพอสมควรแล้ว ขณะเดินออกจากรถผมมักจะชอบมองกระจกที่ไว้ใช้ขวางประตูรถไฟฟ้าเสมอเพื่อสำรวจเครื่องแต่งกายของตนเอง และช่วงเวลานั้นเองที่ผมเหลือบไปเห็นผู้หญิงคนหนึ่ง เธอช่างดูคุ้นตามาก แน่นอนว่าผมจำเธอได้ทันที ผมและเธอ(น่าจะเป็นรุ่นน้อง)เคยเรียนวิชาเดียวกัน ผมนั่งอยู่หลังเธอเสมอ แต่เราทั้งคู่ต่างไม่เคยคุยกันเลยผมก็ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน ผู้หญิงคนนั้นมีรูปร่างเล็ก หน้าตาน่ารักๆทั่วไป แต่หากคุณเคยเรียนกับเธอคุณจะสัมผัสได้ถึงความคล่องงานของเธอ และนั่นก็เป็นเรื่องจริงเมื่อได้ทำงานร่วมกันในตอนที่ต้องจัดนิทรรศการวิชาการของคณะเศรษฐศาสตร์

เธอเป็นนักศึกษารุ่นน้องซึ่งน่าจะอ่อนกว่าผม 2 ปี และตอนนี้เธอน่าจะอยู่ปีที่3  ผมคงไม่สามารถบอกได้เต็มปากว่าเธอเป็นคนสวยแต่จะค่อนไปทางน่ารักเสียมากกว่า เป็นหน้าตาประเภทสาวน้อยร้อยเปอร์เซนต์เมื่อแรกเห็น นอกจากนี้เท่าที่ผมเคยได้ยินมา เธอเป็นนักกิจกรรมตัวยง เป็นคณะกรรมการรุ่นของคณะ เป็นคณะกรรมการในสโมสรนักศึกษา และยังเป็นประธานชมรมวิชาการ นอกจากนี้ในด้านการเรียนเธอก็ทำได้ดีแม้จะไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับผลงานด้านกิจกรรมของเธอ 

ผมเหลือบเธอได้ไม่ทันไรเธอก็เหมือนสังเกตได้และมองมาที่ผมเช่นกัน สายตาของเธอทำให้ผมรู้สึกว่าเธอจำผมได้ ผมและเธอต่างมองหน้ากันอยู่สักพักขณะที่เท้าทั้งสองข้างของผมก็ไม่ได้หยุดเดิน

ผมเดินผ่านเธอไป ประตูรถไฟเริ่มปิด และเมื่อผมไปที่บันได รถไฟก็กำลังเคลื่อนผ่านไป....


เพลงนอคเทิร์น หมายเลข 2 อีแฟลตไมเนอร์ของโชแปงในอัลบั้ม The Classical Guide to Chopin ก็จบลง แล้วโลกของผมอันจำเจก็เริ่มหมุนอีกครั้ง...

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

The East Asian Miracle : มหัศจรรย์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออก


ในขณะที่หลายพื้นที่ในโลกประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากจากผลกระทบการเมืองของสงครามเย็นและเศรษฐกิจผ่านระบบ Bretton Woods ที่กำลังเกิดวิกฤต มหาอำนาจต่างๆเกิดการขาดดุลทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากเนื่องจากมีการแข่งขันกันสะสมอาวุธ ในขณะที่ประเทศเล็กๆหลายประเทศอย่างกลุ่มประเทศละตินอเมริกาก็ถูกระบบ Bretton Woods คอยขัดขวางการเจริญเติบโตของตนเองด้วยการที่ทรัพยากรต่างๆของประเทศถูกดึงออกไปสู่ประเทศศูนย์กลางที่ตนเองพึ่งพิง

อย่างไรก็ตามผลกระทบของการเมืองและเศรษฐกิจ(สงครามเย็นและระบบ Bretton Woods)ที่กำลังตึงเครียด กลับดูเหมือนว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศหลายๆประเทศในทวีปเอเชีย

เกิดอะไรขึ้นที่เอเชีย ?
หลังจากทศวรรษที่ 1960 จนถึง ทศวรรษที่ 1990 ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศในทวีปเอเชียมีการเติบโตอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของญี่ปุ่นในทศวรรษ 1960, การเกิดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ NICs ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ในทศวรรษ 1970, การเกิด 4  เสือเศรษฐกิจ (The four tigers) ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ในทศวรรษ 1980 และการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนผ่านนโยบาย 4 ทันสมัยของเติ่้ง เสี่ยวผิงในทศวรรษที่1990

การเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องถึง 3 ทศวรรษของเอเชียได้รับความสนใจจากนักวิชาการฝั่งตะวันตกเป็นจำนวนมากทั้งนี้เนื่องจากไม่ตรงตามทฤษฎีเศรษฐกิจสำนักคลาสสิค (Classicla Economics)ที่อธิบายว่ารัฐไม่ควรมีบทบาทในตลาด และไม่ตรงตามทฤษฎีการพึ่งพิง (Dependency Theory) ที่อธิบายว่าประเทศที่พึ่งพิงแต่การส่งออก โดยเฉพาะสินค้าปฐมภูมิ ประกอบกับระบบเศรษฐกิจ-การเงินแบบ Bretton Woods จะทำให้บรรดารัฐเล็กๆหรือประเทศที่มีสถานะ"กำลังพัฒนา" ให้กลายเป็น "ด้อยพัฒนา" 

จุดร่วมที่สำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชีย คือการดำเนินยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า "Get the basic right but get the price wrong" 

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์ที่เน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศที่แข็งแรง ผ่านการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดี โดยพยายามให้เกิดเงินเฟ้อต่ำ และมีงบประมาณที่ขาดดุลน้อยที่สุด มากไปกว่านั้นยังมีการพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างทุนมนุษย์ (human capital) แก่ประชาชนในประเทศ การมีระบบราชการที่มีประสิทธิภาพและภาครัฐสามารถทำงานร่วมกับเอกชนได้

อีกส่วนของยุทธศาสตร์คือการบิดเบือนราคาสินค้า ผ่านการดำเนินนโยบายปกป้องการค้าและการอุดหนุนผู้บริโภคชาวต่างชาติที่ทำให้ซื้อสินค้าของประเทศตนในราคาที่ถูกลง ส่งผลให้ขายสินค้าได้มาก ทำให้มีการผลิตมากขึ้น และประชาชนภายในประเทศจะเป็นผู้ที่ต้องแบกรับการอุดหนุนนี้โดยการที่ราคาสินค้านำเข้านั้นมีราคาที่สูง หลังจากนั้นก็จะดำเนินนโยบายที่อุดหนุนภาคอุตสาหกรรมส่งออก โดยมีมาตรการจูงใจการส่งออก เช่น การหักค่าเสื่อมราคาเร็วขึ้นทำให้จ่ายภาษีน้อยลง การให้เงินอุดหนุนแก่ตัวอุตสาหกรรมโดยตรง หรือจะเป็นการจัดลำดับให้กู้อย่างเป็นระบบ และการลดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ

ความแตกต่างของเอเชียที่ทำให้เกิดการเติบโตในขณะที่ละตินอเมริกากลับด้อยพัฒนานั้น คือ 
  1. เศรษฐกิจของเอเชีย เอกชนมีการแข่งขันกันอย่างเสรี แต่ขณะที่ละตินอเมริกามีการหนุนนายทุนน้อยรายทำให้นายทุนมีอำนาจมาก และสามารถผูกขาดตลาด เกิดตลาดผูกขาด(​Monopoly market)หรือตลาดแข่งขันน้อยรายในบางประเทศ(Oligopoly market)
  2. ในเอเชียนั้นรัฐไม่ถูกครอบงำโดยเอกชน 
อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์มหัศจรรย์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกก็ได้มีนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเติบโตที่ไม่ได้มีความพิเศษอะไร ซ้ำยังไม่แน่นอนอีกด้วย โดย Paul Krugman ได้นำตีพิมพ์ The Myth of Asia's Miracle ลงในนิตยสาร Foreign Affairs (1994) อธิบายว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงแค่การเพิ่มขึ้นของปัจจัยการผลิต(จากการลงทุนและสะสม) แต่ในขณะที่ไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีส่งผลให้ไม่เกิดการผลิตที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง  กล่าวคือเป็นการเพิ่มขึ้นเฉพาะการลงทุนและประชากร ไม่ใช่การเติบโตของนวัตกรรมและการผลิตที่มีประสิทธิภาพ

ดูเหมือนว่าข้อวิพากษ์วิจารณ์ของ Krugman จะศักดิ์สิทธิ์เพราะในท้ายที่สุดประเทศในเอเชียก็ตกเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจการเงินครั้งใหญ่ (Asian financial crisis) ในปี 1997


http://www.grips.ac.jp/teacher/oono/hp/image_f2/lec11_1cc.gif


บทความดังกล่าว สรุปมาจากการบรรยายวิชา ร.380 เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ วันที่  26 กรกฎาคม 2556

วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

Dependency Theory : ทฤษฎีการพึ่งพิง


ภายหลังการเกิดขึ้นของระเบียบเศรษฐกิจ-การเงินโลกใหม่ซึ่งเป็นผลลัพท์จากการประชุมที่ Bretton Wood ก็ทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของหลายๆประเทศฟื้นต้วกลับมาอีกครั้งโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ แต่ทว่าก็มีกลุ่มประเทศจำนวนหนึ่งกลับมีการพัฒนาที่ช้าหรือด้อยพัฒนา (underdevelopment) ซึ่งจะมีลักษณะที่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นจะผูกติดกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างมีพลวัต หากประเทศที่พัฒนามีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประเทศพึ่งพิงก็จะเติบโตตาม(แต่ในอัตราที่น้อยกว่า)

สถานการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเป็นไปได้ถ้าหากอิงตามระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ที่มีการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น มีการองค์การระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ ช่วยเหลือในเงินทุนไปพัฒนาประเทศ และถ้าหากประเทศผลิต สินค้าที่ตนเองมีความถนัดตามหลักการความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) สินค้าเหล่านั้นก็น่าจะขายได้มากนำเงินเข้าสู่ประเทศได้มาก และเพื่อที่จะสามารถอธิบายความเป็นไปของ ความด้อยพัฒนาที่เกิดขึ้นจึงได้มีการศึกษา และกำเนิดทฤษฎีพึ่งพิงขึ้น

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้มีนักทฤษฎีแต่ละสาขามาให้คำอธิบาย โดยส่วนใหญ่จะมีคำอธิบายที่คล้ายคลึงกัน คือ ปัญหาเกิดมาจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของตัวรัฐบาล ไม่ใช่ความผิดของตลาด ในขณะที่ทฤษฎีการพึ่งพิงนี้ จะอธิบายว่าความด้อยพัฒนาเกิดมาจากการขยายตัวของระบบทุนนิยมโลก (global capitalism) และการเกิดระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ที่ทำให้เกิดการแบ่งรัฐออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ประเทศที่อยู่ศูนย์กลาง (center) และประเทศที่อยู่ชายขอบ (periphery)

ประเทศที่อยู่ในชายขอบส่วนใหญ่จะผลิตสินค้าปฐมภูมิหรือสินค้าเกษตรซึ่งมีมูลค่าที่ต่ำ(แต่มีความถนัด)ในขณะที่ประเทศศูนย์กลางส่วนมากจะผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มาจากการแปรรูปสินค้าปฐมภูมิ และเน้นการลงทุนในประเทศชายขอบที่ตนเองมีความถนัดและมีมูลค่าสูง ทำให้ประเทศที่อยู่ในชายขอบ ต้องนำเข้าสินค้าที่แพง เกิดการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตเศรษฐกิจที่ช้า และเกิดช่องว่างระหว่างประเทศศูนย์กลางและชายขอบมากยิ่งขึ้น นี่เป็นการชี้จุดบอดของหลักการ ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ comparative advantage ที่ไม่สามารถอธิบายความด้อยพัฒนาที่เกิดขึ้นใน พื้นที่ต่างๆได้

มากไปกว่านั้นกลไกทางเศรษฐกิจระดับโลกที่เกิดขึ้นภายหลักจากการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ได้แก่ IMF IBRD หรือ GATT ก็ดูเหมือนว่าจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่จริงแล้วกลไกดังกล่าวเป็นเพียง เครื่องมือของมหาอำนาจที่ใช้ในการขยายอิทธิพลของลัทธิเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่นักทฤษฎีพึ่งพิงมาองว่า เป็นการล่าอาณานิคมครั้งใหม่ของมหาอำนาจใหม่ (new imperialism)

ภายหลังที่ทฤษฎีพึ่งพิงได้เกิดขึ้นและได้รับความนิยมในทศวรรษ 1960 ก็มีนักวิชาการจำนวนมากได้เสนอ แนวทางที่จะหลุดออกจากกับดักของลัทธิทุนนิยมโลกโดยสามารถสรุปได้ดังนี้
  1. ส่งเสริมให้มีการลงทุนในการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า
  2. ตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าให้อยู่ในระดับสูง
  3. ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของประเทศที่อยู่ในชายขอบหรือประเทศด้อยพัฒนา

แต่อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวก็ดูเหมือนจะพบกับอุปสรรคในการดำเนินการอย่างมาก อย่างเช่น การส่งเสริมให้มีการลงทุนในการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า ในความเป็นจริงอาจจะพบว่าตลาดภายใน ของประเทศชายขอบไม่ได้มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะสนับสนุนการทำอุตสาหกรรม ในขณะที่การตั้งกำแพง ภาษีที่สูงต่อสินค้านำเข้าก็อาจจะทำให้ประเทศศูนย์กลางมีมาตรการต่างๆออกมาเพื่อกดดันบรรดาประเทศที่ พึ่งพิงให้ยกเลิกดำเนินนโยบาย และการรวมกลุ่มของประเทศที่อยู่ในชายขอบก็ไม่ได้รับประกันว่าจะมีอำนาจ มากเพียงพอที่จะมาต่อรองกับประเทศที่อยู่ในศูนย์กลาง

แม้ว่าทฤษฎีพึ่งพิง (dependency theory) จะสามารถอธิบายความด้อยพัฒนาที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก แต่ทว่าก็มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นทฤษฎีที่ไม่มีการวิจัยที่เป็นระบบ เป็นเพียงแค่โวหารที่เน้นการกล่าวหาทางการเมือง (political blame) โดยโยนความผิดไปที่ประเทศที่พัฒนา หรือประเทศที่ตนเองอ้างว่าอยู่ศูนย์กลางทั้งหมด โดยไม่ได้ย้อนกลับมามองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นก็มีสาเหตุ มาจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลประเทศชายขอบที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น



http://environmentalgeography.files.wordpress.com/2012/04/340px-dependency_theory-svg.png




 บทความดังกล่าว สรุปมาจากบรรยายวิชา ร.380 เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ วันที่ 19 กรกฎาคม 2556

ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ ระบบ Bretton Woods System

ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ ระบบ Bretton Woods System
เมื่อสงครามโลกครั้งที 2 ใกล้สิ้นสุดลง ประเทศผู้ที่จะชนะสงครามโดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา และ สหราชอาณาจักร ได้ตระหนักถึงปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเนื่องจากภาวะสงครามที่ผลักดันให้ประเทศต่างๆ ใช้นโยบายปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ โดยการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าที่สูง ซึ่งจากปัญหานี้ทำให้เกิด การผลักดันให้มีการประชุมเพื่อจัดระเบียบทางเศรษฐกิจในมิติของการค้า และมิติการเงินขึ้นที่เมือง Bretton Woods

ในมิติด้านการค้า ที่ประชุมได้มีการวางกติกาการค้าระหว่างประเทศออกมาก็คือ GATT (General Agreement on Tariffs and Trade) หรือ ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรการค้า ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน รวมไปถึงการลดหรือกำจัดอุปสรรคทางการค้าให้ได้มากที่สุด และในปี 1990 ก็ได้มีการจัดตั้ง WTO (World Trade Organization) หรือองค์การการค้าโลกขึ้นเพื่อเป็นกลไกที่จะ สานต่อเป้าหมายของ GATT
            
ในมิติทางการเงิน ได้มีกติกาคือ (1) อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (fixed exchange rates) (2) กำหนดให้ เงินตราสกุลดอลลาร์สหรัฐซึ่งสนับสนุนโดยทองคำเป็นสิ่งซื้อขายแลกเปลี่ยนและเก็บรักษามูลค่ากลางของ โลก ดังนั้นธนบัตรอเมริกันจึงมีค่าเท่ากับทองคำที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ ทองคำ 1 ออนซ์ (3) จำกัดการ เคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามพรมแดน

มากไปกว่านั้นที่ประชุมยังได้สร้างสถาบันระหว่างประเทศเพื่อดูและและควบคุมระบบการเงิน ของโลก ได้แก่ IMF (International Monetary Fund) หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และ IBRD (International Bank for Reconstruction and Development) ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม ธนาคารโลก (World Bank)

ระเบียบเศรษฐกิจโลก Bretton Woods ที่ถูกสร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้มีบทบาทช่วย ส่งเสริมการพัฒนาและเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก สามารถระงับภาวะการเสียดุลการค้าเรื้อรังของประเทศ ต่างๆ ผ่านกลไกผลกระทบของการโอนย้ายทองคำและเงินดอลลาร์สหรัฐต่อระดับราคาในประเทศนั้นๆ ซึ่งท้ายที่สุดการค้าของประเทศที่เกี่ยวข้องก็กลับสู่สมดุล นอกจากนี้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระแส เงินทุนไหลเวียนระหว่างประเทศของภาคเอกชนก็เล็กกว่าภาครัฐมาก ตัวแปรเสริมหลักๆทางเศรษฐกิจอยู่ใน ระดับคงที่สม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยน ดัชนีตลาดหุ้น อัตราดอกเบี้ย ระดับราคา ส่งผลให้อัตรา การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกสูงและมั่นคง กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเติบโตค่อนข้างเร็ว

การเมืองกับระเบียบเศรษฐกิจโลก ระบบ Bretton Woods
การประชุมที่ Bretton Woods หากกล่าวถึงบริบทของการเมืองเชิงอำนาจ จะพบว่าในการประชุม มีกลุ่มประเทศที่มีอำนาจครอบงำทิศทางและผลลัพท์ของการประชุม โดยมีเป้าหมายในการขยายส่วนแบ่ง ทางตลาดโลก ซึ่งก็คือ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร
         
 สหรัฐอเมริกา ภายหลังจากที่ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็กลายเป็นรัฐที่มั่งคั่งที่สุดในโลก การผลิตของประเทศถีบตัวเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยกลายเป็นผู้ผลิต 45% ของผลผลิตทั่วโลก ขณะที่สหราชอาณาจักรแม้จะเป็นหนึ่งในประเทศที่ชนะสงครามแต่เนื่องจากผลของสงครามและการทะยานขึ้นของสหรัฐฯจึงทำให้บทบาทของสหราชอาณาจักรเริ่มลดลง
           
หากมองในด้านภูมิรัฐศาสตร์ ก็จะทำให้พบว่าการบริหารองค์การระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น IMF หรือ IBRD จะพบว่า สำนักงานใหญ่ของทั้งสององค์การฯตั้งอยู่ภายในสหรัฐฯ IMF หากจะปล่อยกู้ก็ต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการคลังของสหรัญ และ IBRD หรือ World Bank ประธานขององค์การฯจะต้องเป็นคนอเมริกันเท่านั้น มากไปกว่านั้นสหรัฐฯยังเป็นประเทศที่ให้ การสนับสนุนทางการเงินแก่องค์การระหว่างประเทศเหล่านี้มากที่สุดจึงทำให้มีสิทธิในการแสดงความเห็นมากที่สุด

จะเห็นได้ว่าระเบียบการเงินโลกใหม่ภายใต้ระบบ Bretton Woods เป็นองค์ประกอบหนึ่งของ ระเบียบโลกของอเมริกา (Pax Americana) ซึ่งมียุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ (1) ปิดล้อมการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์จากสหภาพโซเวียต (2) ประกันอำนาจของสหรัฐฯให้เป็นมหาอำนาจของโลก


ความเสื่อมถอยของระบบ Bretton Woods
สมัยประธานาธิบดี จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson 1963 - 1969) สหรัฐมีการพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้ทำสงครามในอินโดจีนและสร้างสวัสดิการแก่ประชาชนในประเทศ โดยไม่ได้ตระหนักถึงปริมาณทองคำสำรองที่ไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้เงินเฟ้อสูงและขาดดุลงบประมาณอย่างมหาศาล มาตรฐานอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ต่อทองคำเริ่มขาดความเชื่อมั่นจากบรรดาประเทศต่างๆ

เมื่อภาวะเงินเฟ้อเข้าขั้นรุนแรง ประธานาธิบดี นิกสัน (Richard Nixon 1969 -  1974) ก็ได้ประกาศระงับการรับแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์เป็นทองคำในเดือนสิงหาคม 1971 และขึ้นภาษีนำเข้าพิเศษ ต่อมาในเดือนมีนาคม 1973 รัฐบาลสหรัฐฯก็ลดค่าเงินดอลลาร์ติดต่อกัน 3 ครั้ง และหันไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว

หลังจากการที่เกิดวิกฤตพลังงาน (oil shock) ที่ทำให้โอเปกขึ้นราคาน้ำมัน 4 เท่าในปลายปี 1973 รัฐบาลสหรัฐฯก็ตัดสินใจยกเลิกระบบ Bretton Woods ในที่สุด


http://media.ft.com/cms/5d447202-af5b-11dd-a4bf-000077b07658.jpg


เอกสารอ้างอิง
  1. เกษียร เตชะพีระ , "เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่" , openbooks, 2556
  2. Manfred Steiger, "Globalization : Avery short introduction", Oxford U. Press, 2009

 บทความดังกล่าว สรุปมาจากบรรยายวิชา ร.380 เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ วันที่ 12 กรกฎาคม 2556

วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองโลก (ต่อ)

2. ยุคปลายศตวรรษที่ 19 ถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1
ก่อนหน้านั้นผมขอย้อนหลังกลับไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็น "ยุคตื่นทอง" ของอเมริกา กล่าวคือมีการค้นพบทองคำเป็นจำนวนมาก ทำให้มาตรฐานทองคำที่เคยถูกยกเลิกไปกลับมามีความน่าเชื่อถือและนำมาใช้อีกครั้ง โดยมีประเทศอุตสาหกรรมใหม่ต่างๆให้ความร่วมมือ เช่น ญี่ปุ่น และรัสเซียในปี 1897 และ ไทยในปี 1908

มากไปกว่านั้นในทศวรรษ 1870 ก็ได้มีการสร้างทางรถไฟมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การคมนาคมขนส่งใช้ระยะเวลาที่สั้นขึ้นประกอบการอพยพย้ายถิ่นฐานที่มากขึ้น (เช่นชาวญี่ปุ่น และ จีนเข้าสู่อเมริกา) ทำให้มีจำนวนแรงงานที่มากยิ่งขึ้นในแต่ละประเทศโดยเฉพาะอเมริกา และประเทศมหาอำนาจต่างๆ

นอกจากนั้นยังมีการแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศ (Intermational division of labor) ซึ่งเป็นการที่ประเทศต่างๆจะผลิตสินค้าที่ตนเองมีความถนัด แล้วนำมาแลกเปลี่ยนค้าขายซึ่งกันและกันสอดคล้องกับหลักการ Comparativ advantage ของ David Ricaedo และก็ยังมีอีกหลักการหนึ่งที่ช่วยอธิบายถึงการแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศ ซึ่งก็คือหลักการ  Factor endownment ของ Hechscher-Olin ที่อธิบายว่าประเทศที่มีความเข้มข้นของปัจจัยต่างกัน ก็จะผลิตสินค้าตามปัจจัยนั้น เช่น ประเทศที่มีปัจจัยทุนมาก ก็จะเน้นการลงทุน การเงิน ประเทศที่มีปัจจัยแรงงานมากก็จะผลิตสินค้าที่เป็นอุตสหากรรมมาก และประเทศใดที่มีปัจจัยที่ดินมาก ประเทศนั้นก็จะผลิตสินค้าเกษตรเป็นหลัก

จากปัจจัยต่างๆที่ได้แก่ (1)ยุคตื่นทองของอเมริกา (2)การเพิ่มจำนวนขึ้นของทางรถไฟ (3)การอพยพย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ และ (4)การแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศ ทำให้เกิดเสถียรภาพในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ, เสถียรภาพในราคาและค่าจ้าง(การจ้างงาน) และเสถียรภาพในการจัดการเศรษฐกิจมหภาค

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 1910 แม้ว่าจะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นเป็นจำนวนมากในยุโรปและหลายพื้นที่ของโลกซึ่งทำมีความทันสมัยมากขึ้น ผ่านการดำเนินนโยบายที่ปกป้องการค้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมทารก (Infant industies) (เยอรมัน และอเมริกาสามารถแซงอังกฤษ  และการเข้าสู่รัฐอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นและรัสเซีย) แต่แล้วผลกระทบเชิงลบของการพัฒนาก็เกิดขึ้น โดยมีผลดังนี้

  1. สินค้าที่ผลิตมากเกินไปจะถูกระบายไปยังประเทศที่เปิดเสรีทางการค้า(อย่างเช่นอเมริกา)ทำให้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศที่มีราคาแพงกว่าไม่สามารถขายได้ ทำให้ภาคการผลิตบางส่วนต้องปิดตัวลงและออกจากตลาด เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม
  2. เกิดการล่าอาณานิคมขึ้นโดยใช้เป็นแหล่งระบายสินค้า ค้นหาแรงงาน และขูดรีดทรัพยากร
  3. เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม
ท้ายที่สุดแล้วปัญหาดังกล่าวจะเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นประกอบกับสถานการณ์การเมืองที่ค่อนข้างจึงเครียดในช่วงนั้นจึงทำให้สงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้นในที่สุด

3. ยุคสงครามโลกครั้งที่  1 -  วิกฤตเศรษฐกิจโลก - สงครามโลกครั้งที่ 2
สงครามโลกครั้งที่ 1 มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมือง-ความมั่นคงของสองค่าย คือ ค่ายสัมพันธมิตร(Allied Power) ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย อิตาลี และสหรัฐฯ และค่ายมหาอำนาจกลาง(Central Powers) ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรียฮังการี จักรวรรดิออตโตมาน และบัลกาเรีย โดยระบบดุลแห่งอำนาจ(Balance of power)ที่ใช้ในยุโรปนั้นเริ่มมีความปั่นป่วน เกิดการแข่งขันกันสะสมอาวุธ และการดำเนินนโยบายแบบชาตินิยมของประเทศต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในยุโรป และนำไปสู่เหตุการณ์ที่เป็นชนวนของสงครามก็คือ การลอบปลงพระชนม์อารค์ดยุค ฟรานซ์ เฟอร์ดินาน แห่งออสเตรีย (Archduke Franz Ferdinan of Austira)

อีกหนึ่งสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็คือความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ ภายใต้การดำเนินนโยบายที่ปกป้องการค้า (Trade protectionism) ที่ทำให้สินค้าส่งออกของประเทศต่างๆไม่สามารถขายได้ ประกอบกับการนำงบประมาณต่างๆมาใช้ในการสร้างและสะสมอาวุธเกิดการสะสมการขาดทุนและความตึงเครียดระหว่างประเทศมากขึ้น

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้สิ้นสุดลงประตูมหาอำนาจบานใหม่ก็เริ่มเปิดออก โดยประเทศที่เปิดประตูนั้นได้แก่สหรัฐฯ ซึ่งเริ่มมีบทบาทเป็นมหาอำนาจของโลกภายหลังจากการเข้าร่วมสงครามเมื่อปี 1917 และมีส่วนสนับสนุนอาวุธและเสบียงแก่ประเทศกลุ่มสัมพันธมิตร ซึ่งเมื่อสงครามจบลงประเทศต่างๆในยุโรปได้รับความเสียหายมาก ขาดเสถียรภาพทางการเมืองและความตกต่ำทางเศรษฐกิจทำให้ต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากสหรัฐฯในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นทุนโดยการให้เงินกู้ ตลาด หรือเทคโนโลยี

ขณะเดียวกันผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 นอกจากจะทำให้ฝ่ายที่พ่ายแพ้ต้องหมดอำนาจลงไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว ฝ่ายมหาอำนาจที่ชนะสงครามเช่นอังกฤษก็กำลังเดินถอยหลังออกจากความเป็นมหาอำนาจขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากความเสียหายจากสงคราม การขาดดุลการค้าอย่างรุนแรง และยังมีหนี้ที่ต้องใช้คืนจากสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามความเสียหายทางเศรษฐกิจที่รุนแรงอันเนื่องมาจากสงครามไม่ว่าจะเป็นหนี้จำนวนมากในแต่ละประเทศและค่าชดเชยสงคราม ได้ก่อให้เกิดภาระอันหนักหน่วงแก่ประเทศต่างๆเป็นจำนวนมากจนในที่สุดระบบเศรษฐกิจของโลกก็พังทลายลงในที่สุด ตลาดหุ้นเกิดความผันผวน เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลก (The great depression)

มีคำอธิบายทางทฤษฎีต่างๆต่อภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจจำนวนมาก

  • แนวคิดของสำนักคลาสสิค(Classical economics) อธิบายว่าปัญหาของวิกฤตมาจากการจัดการปริมาณเงินในเศรษฐกิจมหภาคที่ไม่มีประสิทธิภาพ
  • สำนักมาร์กซิสม์ (Marxists) อธิบายว่าปัญหามาจากการสะสมทุนที่ไม่มีเสถียรภาพ ขาดความเท่าเทียม และเป็นการสะสมทุนที่มากเกินไป
  • สำนักเคนส์ (Keynesian) อธิบายว่าปัญหามาจากการลุงทุนที่มากเกินไป แต่ขาดการบริโภค(ไม่มีการใช้จ่าย)

ผลของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (The great depression) มีส่วนช่วยให้เกิดรัฐเผด็จการในที่ต่างๆอันเนื่องมาจากภาวะตกต่ำ ประชาชนต้องการที่พึ่ง ต้องการหนีจากปัญหาเลวร้ายนี้ มากไปกว่านั้นกลไกที่คอยดูแลการเมืองและความมั่นคงของโลกอย่าง องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) ก็ไม่สามารถดำเนินการรักษาความมั่นคงได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากไปกว่านั้นในด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลต่างๆก็เริ่มหันกลับมาดำเนินนโยบายปกป้องการค้าอีกครั้ง ซึ่งจากทั้งหมดนี้ก็นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในที่สุด





(บทความดังกล่่าว สรุปมาจากการบรรยายวิชา ร.380 เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556)

วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองโลก

บทความนี้จะขอกล่าวถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองโลก โดยแบ่งยุคสมัยออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่
  1. ยุคก่อนสมัยใหม่ และ สมัยใหม่ (premodern and modern international political economy)
  2. ยุคปลายศตวรรษที่ 19 ถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1
  3. ยุคสงครามโลกครั้งที่  1 -  วิกฤตเศรษฐกิจโลก - สงครามโลกครั้งที่ 2
1. ยุคก่อนสมัยใหม่ และสมัยใหม่ (premodern and modern international political economy)
กิจกรรมที่สำคัญที่ก่อให้เกิดลักษณะทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ก็คือ การค้าทางไกล โดยสินค้าที่ค้าขายกันในยุคนั้นมีมากมายหลายอย่าง อาทิ เครื่องเทศ ผ้าไหม เซรามิก ชา เงินและทอง เป็นต้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการค้าระหว่างกันมากยิ่งขึ้นเนื่องมาจากการค้นพบทวีปอเมริกาโดยโคลัมบัสเมื่อปี 1492 และ การแล่นเรือรอบโลกครั้งที่ 1 และ 2 ในปลายศตวรรษที่ 14 - 16 โดยโปรตุเกส จึงทำให้โปรตุเกสเป็นผู้บุกเบิกในการเดินเรือพร้อมกับการค้า

มากไปกว่านั้นเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 17 เนเธอร์แลนด์ และ อังกฤษก็ได้ถูกยกให้เป็นประเทศที่พัฒนาการค้าของตนขึ้นมาจนมีอำนาจนำทางเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาดังกล่าวเกิดมาจาก

  1. การก่อตัวของบริษัทเอกชน ที่ได้รับการสนับสนุนจากราชวงศ์ เช่น British East India หรือ Dutch East India 
  2. การมีกองเรือขนาดใหญ่ (large fleets)
  3. การมีระบบสินเชื่อ (credit system)
  4. ลัทธิจักรวรรดินิยมที่ทำให้เกิดการล่าอาณานิคม
  5. นโยบายพาณิชย์นิยม (mercantilism)
ในขณะที่สเปนและโปรตุเกสกลับมีบทบาทที่น้อยลงไปเนื่องจากข้อจำกัดทางศาสนาที่เคร่งครัด โดยกีดกันโอกาสในการทำการค้าของผู้ที่ไม่ได้เป็นศาสนิกชน จึงทำให้พ่อค้าจำนวนมากย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศอื่นๆ

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 18 อังกฤษได้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น โดยมีสาเหตุมาจาก
  1. การมีประสิทธิภาพที่มากขึ้นของภาคเกษตร (หรือเริ่มกลายเป็นเกษตรอุตสาหกรรม) ซึ่งทำให้ภาคส่วนต่างๆมีการเจริญเติบโตตามมา
  2. การปฏิวัติชนชั้นกลางในปี 1688 ที่ทำให้ปัจเจกบุคคลสามรถมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนเอง จึงทำให้เกิดการสะสมทุน 
  3. การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  4. การมีระบบการเงินที่มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพมากขึ้นจากการก่อตั้งธนาคารแห่งชาติ ในปี 1694
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆอีกมากมายที่ช่วยผลักดันให้อังกฤษเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะเป็นการมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากเช่นถ่านหิน, การมีกองกำลังที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะกองทัพเรือ, ความเป็นชาติที่ก่อตัวขึ้น(จากสนธิสัญญาสันติภาพที่เวสต์ฟาเลียปี 1648), ศาสนาที่เอื้อต่อการค้า(ไม่เคร่งครัดเท่ากับนิกายคาทอลิก)

จุดเปลี่ยนที่สำคัญของอำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ที่อังกฤษสามารถเอาชนะในสงครามนโปเลียนได้ในปี 1815 ประกอบกับการที่อังกฤษมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในระบบภายในประเทศ จึงทำให้อังกฤษเข้าสู่ยุค British Hagemony และเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกผ่านระบบมาตรฐานทองคำ

อย่างไรก็ตามในกลางทศวรรษ 1870 จนถึงปลายทศวรรษ 1890 ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกก็เริ่มเกิด วิกฤตขึ้นเนื่องจาก
  1. ราคาสินค้าตกต่ำลงเรื่อยๆจากการนำเข้าจากการที่มีอุปทานในตลาดเพิ่มมากขึ้น
  2. การพัฒนาเทคโนโลยีทำให้เกิดการใช้เครื่องจักรแทนคนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น
  3. จากสองข้อแรก ทำให้รัฐต่างๆใช้นโยบายที่ปกป้องเศรษฐกิจของตนเองโดยการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้า (ยกเว้นบริเทน และ กลุ่มประเทศ Benelux)
  4. หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจเริ่มก่อเค้าขึ้น ส่งผลให้บรรดารัฐต่างๆเริ่มไม่ไว้ใจมาตรฐานทองคำ และเริ่มยกเลิกการใช้มาตรฐานนี้ ทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเงินและการค้ามากขึ้นเรื่อยๆ
  5. หลังจากการใช้นโยบายปกป้องการค้าและเศรษฐกิจของประเทศตน ทำให้สินค้าที่ถูกผลิตมามากเกินไปทำให้ไม่สามารถขายได้ จึงต้องมีการล่าอาณานิคมครั้งใหม่ (new round colonialism)

รูปภาพจาก http://www.telegraph.co.uk/finance/personalfinance/pensions/9077788/Lord-Freud-British-pensions-no-longer-gold-standard.html




(บทความดังกล่าว สรุปมาจากการบรรยายวิชา ร.380 เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556)

วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ : นิยาม ที่มา และทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง


เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ คืออะไร ?
"เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ" หรือ "เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ" เป็นศาสตร์ที่มีลักษณะเป็น Area Study หรือ Field โดยจะศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างตัวแสดงในเวทีการระหว่างประเทศภายใต้มิติเศรษฐกิจ-การเมืองโลก ว่าใครได้หรือเสียอะไรไป หรือใครเป็นผู้มีอำนาจในการออกระเบียบเศรษฐกิจโลก เป็นต้น

ที่มาและความสำคัญ
ในทศวรรษ 1970 เกิดปัญหาวิกฤตน้ำมัน หรือที่เรียกว่า Oil Shock ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจระดับโลก ประกอบกับอิทธิพลของสงครามเย็นที่ทำให้รัฐต่างๆต้องสะสมกำลังอาวุธซึ่งช่วยซ้ำให้วิกฤตนี้เลวร้ายขึ้นไปอีกขั้น ด้วยเหตุนี้เองการศึกษาถึงอิทธิพลของเศรษฐกิจที่มีต่อระบบการเมืองโลกจึงได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจมีส่วนทำให้ความตึงเครียดของการเมืองโลกเพิ่มมากขึ้น

มากไปกว่านั้นในปัจจุบันโลกของเราอยู่ภายใต้กระแสของโลกาภิวัตน์ที่ทั้งแผ่ขยายและทำให้ความสัมพันธ์เข้มข้นขึ้นตั้งแต่ระดับปัจเจกจนถึงระดับรัฐ ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจ การค้า และการเงินของแต่ละรัฐเชื่อมโยงกันมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงอิทธิพลของบรรษัทข้ามชาติที่ท้าทายอำนาจและบทบาทของรัฐมากขึ้น คำอธิบายทางรัฐศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์เพียงอย่างเดี่ยวๆจึงไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจประกฏการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศจึงเป็นศาสตร์ที่จะเข้ามาช่วยอธิบายเหตุการณ์ต่างๆในสังคมการเมือง-เศรษฐกิจโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งศาสตร์ดังกล่าวมีลักษณะเบื้องต้นดังนี้
  1. เป็นสาขาวิชาที่มีลักษณะสหวิทยาการ ที่รวมทั้ง รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ 
  2. สามารถอธิบายปรากฎการณ์หรือเหตุการณ์ที่มีความซับซ้อนได้ดีกว่าศาสตร์เดียว
ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ

  1. สภาพจริงนิยม รัฐนิยม หรือพาณิชย์นิยม (Realism, Statism, Merchantilism) เป็นแนวคิดที่มองว่ารัฐมุ่งแสวงหาอำนาจและความมั่งคั่ง เพื่อรักษาหรือให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติ ด้วยวิธีต่างๆไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงตลาดโดยรัฐ การปกป้องการค้าภายในประเทศ(การส่งเสริมการส่งออกและลดการนำเข้า) การให้ความช่วยเหลือธุรกิจภายในประเทศ เป็นต้น ซึ่งในทรรศนะของแนวคิดดังกล่าว รัฐ จะเป็นผู้แสดงบทบาทหลักทั้งในและนอกประเทศ และเน้นประเด็นด้านการเมืองนำเศรษฐกิจ มากไปกว่านั้นแนวคิดนี้ยังมองว่า ภายใต้กระแสของโลกาภิวัตน์ รัฐ ยังสามารถรักษาอำนาจและบทบาทของตนได้อยู่ โดยการผ่อนคลายกฎระเบียบบางประการให้มีความยืดหยุ่นขึ้น และสร้างกฎระเบียบใหม่ๆเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  2. เสรีนิยม (Liberalism / Economic Liberalism) เป็นแนวคิดที่มีรากฐานมาจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์คลาสสิคเน้นระบบตลาดเสรี ซึ่งการแข่งขันอย่างอิสระที่จะนำมาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะตรงกันข้ามหากให้รัฐเข้ามามีส่วนในตลาดเพราะจะเกิดการผูกขาด ส่งผลให้คุณภาพของสินค้าลดลง และจะชลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ  มากไปกว่านั้นแนวคิดดังกล่าวยังได้ให้ความสำคัญกับความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ที่ให้รัฐผลิตในสินค้าที่ตนเองมีความถนัดซึ่งจะทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ มากไปกว่านั้นในมุมมองของแนวคิดนี้ต่อสภาวะโลกาภิวัตน์ จะมองว่า บทบาทของรัฐถูกท้าทายมากยิ่งขึ้นจากการอุบัติขึ้นของตัวแสดงใหม่ๆทั้งในประเทศได้แก่  ภาคธุรกิจ ภาคสังคมหรือชุมชน  และนอกประเทศได้แก่บรรษัทข้ามชาติ เป็นต้น
  3. มาร์กซิสม์ (Marxism) เป็นแนวคิดที่เน้นย้ำถึงความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม หรือการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมทั้งในและนอกประเทศ ประเทศมหาอำนาจกดขี่ประเทศกำลังพัฒนา นายทุนกดขี่แรงงาน เป็นต้น มากไปกว่านั้นยังมองว่าบรรษัทข้ามชาติเป็นผู้ฉวยโอกาสที่จะเข้ามาใช้ทรัพยากรต่างๆและแรงงานเพื่อแสวงหากำไรส่วนตนเพียงอย่างเดียว แนวคิดมาร์กซิสม์ สรุปว่าปัญหาทั้งหมด คือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกเท่านั้น กล่าวคือ จะต้องมี ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ (New International Economic Order : NIEO) ที่สามารถกระจายผลประโยชน์ได้แก่ทุกภาคส่วน


รูปภาพจาก http://www.georgistjournal.org/2013/03/11/a-dialogue-on-political-economy/


(บทความดังกล่าว สรุปมาจากการบรรยายวิชา ร.380 เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2556)